วันอาทิตย์ที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2564

เพลงเจอกัน

 

เพลงเจอกัน

ฉันและเธอเจอกัน    แทบทุกวันเลยเชียว

เมื่อเจอกันเรารักกัน         ต่างสมานไมตรี

ยิ้มให้กันทีไร                 สุขฤทัยเปรมปรีดิ์

ต่างพูดจาพาที               สวัสดีเพื่อนเอย

 

วันจันทร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

การพูดในโอกาสต่าง ๆ

ใบความรู้  เรื่องการพูดในโอกาสต่าง ๆ
จุดประสงค์การเรียนรู้
  ๑.  บอกหลักการพูด และวิธีการพูดในโอกาสต่าง ๆ ได้ถูกต้อง
 ๒.  ใช้ถ้อยคำ สำนวนโวหาร ในการพูดแบบต่าง ๆ ได้เหมาะสม 

การพูดขอบคุณ
๑.  การพูดขอบคุณ  การพูดขอบคุณ ใช้โอกาสที่มีผู้อื่นได้ช่วยเหลือหรือมีบุญคุณแก่เรา ถือว่าเป็นมารยาทที่จะต้องแสดงความยินดี และกล่าวขอบคุณในน้ำใจของเขา คือ เป็นการแสดงออกถึงการรู้คุณผู้อื่นเป็นวัฒนธรรมที่ดีงามที่ควรรักษาไว้อย่างยิ่ง
             หลักการกล่าวขอบคุณมีดังนี้
                      ๑.  กล่าวปฏิสันถารบุคคลหรือคณะบุคคลที่จะได้รับการขอบคุณ
                      ๒.  ขณะกล่าวขอบคุณ ต้องมองไปที่ผู้ได้รับการขอบคุณ
                      ๓.  แสดงความรู้สึกที่ได้รับเกียรติหรือได้รับมอบหมาย ให้เป็นผู้กล่าวขอบคุณในนามของผู้ฟังหรือองค์กร
                      ๔.  กล่าว เน้นถึงความประทับใจที่ได้รับฟัง เช่น การบรรยาย การอภิปราย การแสดงที่ให้สาระความรู้อันเป็นประโยชน์หรือเป็นการแสดงที่ตื่นเต้นเร้าใจ
                      ๕.  กล่าวขอบคุณ ในนามของผู้จัด ผู้ฟัง หวังว่า จะได้รับเกียรติจากท่านอีก สำหรับวันนี้พวกเราขอขอบคุณ และขอเชิญรับของที่ระลึก (ถ้ามี) ปรบมือ
             ข้อสังเกต  การใช้คำขอบคุณ ต้องใช้ให้เหมาะสมกับบุคคล ดังนี้
                                               ขอบใจ                                        ใช้กับผู้ที่มีอายุน้อยกว่า
                                               ขอบคุณ                                      ใช้กับผู้ที่มีอายะมากกว่า หรือ ระดับเดียวกัน
                                               ขอบพระคุณ                   ใช้กับผู้ที่มีอายุมากกว่าและผู้เคารพนับถือ
                                               กราบขอบพระคุณ            ใช้กับผู้ที่มีพระคุณต่อผู้พูดมาก ๆ เช่น พ่อแม่ ปู่       
                                                                                                  ย่า ตา    ยาย ครู อาจารย์ เป็นต้น
ตัวอย่างการกล่าวขอบคุณ
๑.  พี่ขอขอบใจน้องมากที่ช่วยซื้อของให้
๒.  ดิฉันขอขอบคุณคุณมาลีที่ส่งลูกที่บ้านวันนี้ค่ะ
๓.  หลานขอกราบขอบพระคุณคุณตาที่ให้เงินหลานค่ะ
การกล่าวขอบคุณผู้ที่มีอาวุโสกว่า
เรียน  ท่านผู้ใหญ่บ้านที่เคารพ
             ผมรู้สึกซาบซึ้งในความกรุณาของท่านผู้ใหญ่บ้านเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้มอบรางวัล จำนวน  ๑๐๐  ชุด ในวันเด็กแก่นักเรียนโรงเรียนมัธยมวัดสิงห์ นับเป็นบุญกุศลอันดียิ่งที่  เด็ก ๆ จะได้รับความสุข สนุกสนานในการแข่งขันกีฬาในวันเด็กแห่งชาติ ในปีนี้ผมและ      เด็ก ๆ มีความยินดีในเมตตาจิตของท่านผู้ใหญ่บ้านเป็นอย่างมาก จึงขอกราบขอบพระคุณครับ (พูดจบพร้อมกับยกมือไว้)



การกล่าวอวยพร
๒.  การกล่าวอวยพร  การกล่าวอวยพร นับเป็นวัฒนธรรมที่ดีงามอย่างยิ่ง การกล่าวอวยพรนั้นนอกจากจะใช้อวยพรคนสนิทแบบไม่เป็นทางการแล้ว บางครั้งมีความจำเป็นต้องกล่าวอวยพรแบบพิธีการที่ต้องเตรียมร่างคำกล่าวไว้ล่วงหน้า เลือกเฟ้นถ้อยคำ สำนวนภาษาที่ดีงาม ไพเราะและสุภาพตามวาระโอกาสต่าง ๆ เช่น งานมงคลสมรส งานวันเกิด งานขึ้นปีใหม่ เป็นต้น เพื่อที่รับเกียรติให้เป็นผู้กล่าวอวยพร ควรพูดข้อความให้สอดคล้องกับโอกาส กล่าวถ้อยคำอันเป็นมงคล มีใจความสั้นกะทัดรัด ดังนี้
             งานวันเกิด  การกล่าวอวยพรวันเกิด มีแนวการพูดดังนี้
                      ๑.  กล่าวปฏิสันถาร
                      ๒.  แสดงความยินดีที่ได้รับเกียรติ ให้เป็นผู้กล่าวอวยพร
                      ๓.  กล่าวถึงความสัมพันธ์ของผู้พูดกับเจ้าภาพ
                      ๔.  กล่าวถึงเกียรติคุณ ความดีงาม ผลงานอันเป็นคุณประโยชน์ที่ปรากฏ
                      ๕.  อวยพรให้มีอายุยืนนาน มีความเจริญรุ่งเรืองยิ่ง ๆ ขึ้น เพื่อจะได้เป็นที่พึ่งของครอบครัวและบุตรหลานตลอดไป พร้อมทั้งเชิญชวนให้ทุกท่านดื่มอวยพร
ตัวอย่าง
สวัสดี.....ท่านผู้มีเกียรติที่เคารพ

             ดิฉัน มีความรู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่ได้รับเกียรติให้ขึ้นมากล่าวอวยพรวันเกิดในวันนี้ ซึ่งเป็นวันครบอายุ  ๖๐  ปี ของท่านอาจารย์มงคล   โตสกุล ตลอดระยะเวลาที่ดิฉันได้ทำงานใกล้ชิดและรู้จักท่านอาจารย์มงคล   โตสกุล มานั้น ท่านเป็นคนมีความสามารถในด้านการวาดภาพอย่างหาใครเปรียบไม่ได้ นอกจากนี้ ยังมีความเมตตา และเอื้ออาทรต่อทุกคนที่ร่วมงานด้วยกัน ดิฉันรู้สึก ดีใจและปลื้มปิติเป็นอย่างยิ่งที่ได้มาร่วมงานมงคลในวันนี้            ขออำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายจงปกป้องคุ้มครองให้ท่านมีสุขภาพอนามัยแข็งแรง ปราศจากโรคภัยอันตรายทั้งปวง พร้อมด้วยอายุวรรณะ สุขะ พละ ครบทุกประการ สวัสดีค่ะ


 การกล่าวคำอำลา
             ๑.  กล่าวปฏิสันถาร
             ๒.  แสดงความรู้สึกขอบคุณในน้ำใจไมตรีจิต ที่คณะผู้จัดงานและผู้มาร่วมงานมอบให้มีความประทับใจยิ่ง
             ๓.  กล่าวถึงความรู้สึกอาลัยอาวรณ์ที่ต้องจากไป เพราะได้รับความอบอุ่นจากผู้ร่วมงาน ทั้งในการปฏิบัติงานและส่วนตัวเป็นอย่างดี
             ๔.  แสดงความมั่นใจถึงความสัมพันธ์ จะคงอยู่ตลอดไปไม่มีวันลืมทุกท่านมีสิ่งใดจะให้รับใช้ขอน้อมรับด้วยความยินดี
             ๕.  กล่าวขอบคุณและอวยพรให้ทุกท่านมีความสุข ความเจริญตลอดไป ก่อนกล่าวคำอำลา
ตัวอย่างการกล่าวอำลา
ท่านผู้อำนวยการ ครู-อาจารย์ และแขกผู้มีเกียรติทุกท่าน
             วันที่  ๓๐  กันยายน  ๒๕๕๔  เป็นวันที่ดิฉันจะจดจำไว้ในชีวิตตลอดไปที่ได้หมด ภาระหน้าที่ตามระเบียบของทางราชการ และซาบซึ้งในความกรุณาของท่านผู้อำนวยการทุกท่าน ที่มีส่วนร่วมในการจัดงานมุทิตาจิตให้เกียรติในวันนี้

            

 นับแต่วันนี้ดิฉันต้องจากโรงเรียนมัธยมวัดสิงห์ที่เปรียบเหมือนเพื่อนบ้านหลังใหญ่ ที่ดิฉันได้พักพิงอาศัยมานานถึง  ๔๐  ปี นับจากนี้จะต้องกลับไปอยู่บ้านหลังเล็กทำให้ใจหายที่นี่มีแต่ความทรงจำที่ดี มีเพื่อนดี ๆ ทุกคน มีน้อง ๆ ที่น่ารักที่คอยให้ความช่วยเหลือ ความรัก ความเอื้ออาทร น้ำใจไมตรีของทุก ๆ คนนี้จะไม่ขอลืมจะจดจำไว้ในความทรงจำอยู่เสมอ ดิฉันขอปวารณาตัวว่า หากทุกท่านประสงค์จะให้ช่วยรับใช้ประการใดอย่าได้เกรงใจ ขอให้แจ้งไปได้ทันที ดิฉันจะรับใช้ด้วยความเต็มใจ  สวัสดีค่ะ...

วันเสาร์ที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2559

หลักการวิจารณ์วรรณคดี และวรรณกรรมไทยปัจจุบัน

หลักการวิจารณ์วรรณคดี  และวรรณกรรมไทยปัจจุบัน


การวิจารณ์วรรณคดี  และวรรณกรรมไทย
แนวทางการวิจารณ์วรรณคดีมีการกล่าวถึงประวัติความเป็นมาของบุคคลหรือเหตุการณ์เป็นอย่างไร  ความสำเร็จของบุคคลในเหตุการณ์นั้น ๆ  จำเป็นต้องกำหนดแนวทางในการวิจารณ์วรรณคดี (กรมการศึกษานอกโรงเรียน, ๒๕๔๖ : ๑๗๙) ซึ่งมีแนวทางวิจารณ์ดังนี้
๑.      ศึกษาโครงสร้างของเรื่องโครงสร้างที่ดีเด่นของวรรณคดีประเภทร้อยกรอง ได้แก่ การที่กวีสามารถเลือกแนวเรื่องดำเนินไปอย่างสนุกสนาน ตั้งแต่ต้นจนจบ เนื้อความ และสาระของเรื่องประกอบกันเป็นขั้นตอน เหมาะสมกะทัดรัด จูงใจให้ผู้อ่านสนใจติดตามเช่น เรื่อง ขุนช้างขุนแผน  เป็นเรื่องชีวิตของชายหญิงในครอบครัวที่มีฐานะต่างกัน มีบทบาทการดำเนินชีวิตในรูปแบบ และลีลาต่าง ๆ กัน แต่ เข้ามามีความสัมพันธ์เกี่ยวโยงกันแต่ต้นจนจบ อย่างไม่สามารถตัดให้หลุด หรือขาดไปจากเรื่องได้ ไม่ว่า ขุนไกร ขุนช้าง ขุนแผน พระพันวษา นางพิมพิลาลัย นางบัวคลี่ พระไวย ศรีมาลา ฯลฯ ล้วนแต่มีช่วงจังหวะที่ร้อยเกี่ยวกันเป็นโครงสร้างที่น่าสนใจ ชวนให้ติดตาม จนมีคำกล่าวว่า เรื่องขุนช้างขุนแผนนั้น อ่านเพลิน หรือ สนุกวางไม่ลง

เมื่อพิจารณาเรื่องขุนช้างขุนแผน โดยละเอียดแล้วจะเห็นได้ว่า ขุนช้างขุนแผนเป็นลักษณะนิทานที่มีส่วนคล้ายคลึงกับชีวิตจริงของผู้คนในสังคมไทยยุคหนึ่ง  เช่น
การกล่าวถึงสภาพชีวิตจริงในขุนช้างขุนแผน ให้ความสำคัญด้านวิชาความรู้มาก เช่น
          นอกจากนั้นขุนช้างขุนแผนยังให้รสไพเราะของคำประพันธ์เช่น : ตอนชมธรรมชาติโดยมุ่งความไพเราะของเสียงเป็นสำคัญ  



๒.    ศึกษาแก่นของเรื่อง  

 
วรรณคดีประเภทร้อยกรองที่จะอ่านได้เพลิดเพลินนั้น จะต้องมีแก่นของเรื่องประทับใจ ซึ่งเกิดจากการที่กวีผู้สร้างสรรค์งานวรรณคดีร้อยกรองนั้น ๆ ได้ใช้ความจัดเจนหรือประสบการณ์ในชีวิต หยิบยกเรื่องราวของผู้คน เหตุการณ์ สิ่งแวดล้อม กฎเกณฑ์สังคม เช่น ศาสนา พฤติกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ ออกมาให้ร้อยรับกัน ซึ่งอาจเป็นเรื่องที่รู้กันอยู่แล้วทั่วไป หรือเป็นต้นว่า เรื่อง เงาะป่า พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มุ่งแสดงเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ของ  เงาะ  ชาวเขาเผ่าซาไก ในท้องถิ่นภาคใต้ของไทย ซึ่งเป็นเรื่องที่แปลก และขณะเดียวกันก็เสนอบทบาทของความรักระหว่างชายหญิงที่แน่นแฟ้น ซื่อสัตย์ บริสุทธิ์ คือ ลำหับ ฮะเนา ชมพลา ซึ่งเป็นแก่นของเรื่องที่ประทับใจ ทำให้ผู้อ่านได้รับรสของเรื่องเป็นที่พอใจ ซึ่งเรื่องนี้ ทวีศักดิ์ ญาณประทีป (๒๕๓๒ : ๒๕๘-๒๖๐) ได้สรุปสาระสำคัญของเรื่อง  เงาะป่า  มีดังนี้




















ดังนั้น แก่นของเรื่องเงาะป่า คือ วิถีชีวิตของคะนัง ซึ่งเป็นตัวแทนของความเป็นอยู่ของเงาะป่า  ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ลักษณะคำประพันธ์ ใช้กลอนบทละคร มีกาพย์ฉบังแทรกอยู่  ๒  ตอน  คือ  ตอนถวายเครื่องเซ่นแก่เจ้าป่าในพิธีแต่งงานความว่า


กาพย์ฉบัง ๑๖

อ้าองค์พระพนัสบดี                    อีกองค์พระศรี
พรหมรักษ์ฤทธิรณ
                        ทวยเทพสถิตพฤกษมณฑล            เชิญรับกำนล
อันข้าบรรเจิดจงถวาย
                        รับเสวยมางส์ค่างโคควาย              เผือกมันมากมาย
อีกทั้งเมรัยชัยบาน
(กาพย์ฉบัง ๑๖  เรื่องเงาะป่า  รัชกาลที่ ๕)

 
                                               



                       
           


            นอกจากนั้นยังมีเพลงพวงมาลัย  ตอนชะเนาแต่งตัวเตรียมมางานวิวาห์ เช่น
แม่ศรีเอย                                  แม่ศรีบานเย็น
พี่ได้เคยเห็น                                           นั่งกับแม่ฮอยเงาะ
แม่แกนิ่วหน้า                                         น้ำตาลงเผาะเผาะ
งอนง้อฉอเลาะ                                       เหลือละแม่ศรีเอย
(กลอนเพลงชาวบ้าน เรื่องเงาะป่า รัชกาลที่ ๕)
 















๓.     ศึกษากลวิธีการดำเนินเรื่อง วิธีการดำเนินเรื่องที่จะทำให้ผู้อ่านได้รับความเพลิดเพลินบันเทิงใจได้แก่  การเสนอเรื่องชวนให้ติดตาม ซึ่งอาจพิจารณาได้จาก
๑)  การเปิดและปิดเรื่อง วรรณคดีประเภทร้อยกรองจำพวกวรรณคดีบริสุทธิ์ มักจะเปิดเรื่องด้วยการสรรเสริญบ้านเมือง การไห้วครู นครหลวง หรือราชสำนัก ส่วนการปิดเรื่องนั้น ควรมีลักษณะประทับใจ หรือสอดคล้องกับแนวเรื่องในวรรณคดีบริสุทธิ์อาจปิดเรื่องด้วยความสมหวังของตัวละครเอก   เช่น   อิเหนา   รามเกียรติ์  หรือปิดเรื่องด้วยความผิดหวังเศร้าสลด  เช่น          ลิลิตพระลอ  มัทนะพาธา  ในวรรณคดีประยุกต์ที่มุ่งให้ความรู้ความคิดอาจปิดเรื่องด้วยบทสรุป หรือ  ความสมบูรณ์ของเนื้อความ
ตัวอย่างการเปิดเรื่อง   สามัคคีเภทคำฉันท์  ของชิต  บุรทัต  เปิดเรื่องด้วยการไหว้ครู  เช่น























                  ๒)  การเลือกรูปแบบ วรรณคดีประเภทร้อยกรอง มีการเสนอเรื่องโดยอาศัยแบบบังคับ หรือ ฉันทลักษณ์เป็นเครื่องมืออันสำคัญ ดังนั้น กวีที่ประสบความสำเร็จในการเสนอเรื่อง ต้องรู้จักเลือกรูปแบบของร้อยกรอง  ที่จะนำมาใช้ในการเสนอเรื่องแต่ละบทแต่ละตอน  ให้สอดคล้องกับเรื่องราว เหตุการณ์ อารมณ์ ความรู้สึกนึกคิด บทบาทและลักษณะเด่นของตัวละคร เป็นต้นว่า
(๑)  ใช้สัททัลวิกีฬิตฉันท์  ในการพรรณนาเรื่องที่แสดงลักษณะ สง่า ศักดิ์สิทธิ์เป็นที่เทิดทูน
(๒)  ใช้อินทรวิเชียรฉันท์ หรือ วสันตดิลกพรรณาเรื่องที่แสดงลักษณะความงาม
(๓)  ใช้กลอนหก    ในวรรณคดีร้อยกรองบทละคร   ซึ่งสามารถจะนำไปขับร้องและแสดงท่าเคลื่อนไหวได้กะทัดรัด เหมาะสมกับช่วงเวลาตามที่อากัปกิริยาต้องการ ไม่ต้องยืดท่าไปตามความยาวของคำในรูปแบบร้อยกรองชนิดอื่น ๆ
๓)  เอกภาพ  งานวรรณคดีร้อยกรอง โดยเฉพาะวรรณคดีบริสุทธิ์นั้น กลวิธีการเสนอเรื่องที่จะให้ความบันเทิง เพลิดเพลินแก่ผู้อ่านได้สมบูรณ์อีกประการหนึ่งก็คือ ความสามารถของกวีในการสร้างเอกภาพให้แก่เรื่องที่ตนเสนอ   เอกภาพ”   คือความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน  ได้แก่ การเสนอเรื่องที่สอดคล้องผูกพันร้อยรับกันทั้งเรื่อง  มีความผสมกลมกลืนไม่ขัดเขินไม่ขาดตอน ไม่หลงทางเพริดไปจนทำให้เรื่องน่าเบื่อ แสดงประเด็นสำคัญหรือใจความของเรื่องแต่ละใจความแต่ละตอนได้อย่างเหมาะสมกะทัดรัด
๔)  ความสมจริง  การชื่นชม วรรณคดีประเภทร้อยกรองนั้น บางกรณีอาจมีปัญหาในเรื่องของความสมจริงเข้ามาปะปนอยู่ด้วย เพราะกวีอาจนำเรื่องที่ผู้อ่านไม่เคยทราบหรือไม่มีโอกาสสัมผัสมาสร้างเป็นเค้าโครงเรื่อง หรือในการใช้ภาษา ก็อาจใช้กวีโวหารอุปมาอุปไมย กล่าวเกินความเป็นจริง หรือกวีอาจใช้จินตนาการวาดภาพที่กวีประสงค์จะเสนอ และผู้อ่านทราบแน่ว่าเป็นเรื่องที่ห่างไกลจากความเป็นจริง หรือไม่อาจแน่ใจได้ว่ามีจริง เป็นจริง เช่น เรื่องผีปีศาจ แม่มด เทวดาอุ้มสม อิทธิฤทธิ์ปาฏิหารย์ หรือ ความเพ้อฝัน จึงเป็นหน้าที่ของกวีผู้สร้างสรรค์  ที่จะต้องโน้มน้าวให้ผู้อ่านเห็นจริงเห็นจัง ยกตัวอย่างบทชมธรรมชาติ เรื่อง อิเหนา เช่น


เรื่อง อิเหนา

พระชมรุกขชาติที่ริมทาง                      สูงสล้างแลระหงดงใหญ่
ร่มรื่นชื้นชัฏระบัดใบ                                         ลมพัดกิ่งไกวไปมา
ลำดวนหวนหอมพะยอมแย้ม                              พิกุลแกมแก้วเกดกฤษณา
บ้างเผล็ดผลพวงดวงผกา                        หล่นกลาดดาษดาพนาลี
คณานกโบยบินมากินผล                        เสียงพลครั่นครื้นก็ตื่นหนี
อันมิ่งไม้บนเทินเนินคีรี                                     ท่วงทีดังดีดอยู่อัตรา
                                                                      (อิเหนา  รัชกาลที่ ๒)

 







            สรุป  การวิจารณ์วรรณคดีขั้นพื้นฐาน ควรมีความรู้ ความเข้าใจในเรื่อง โครงสร้างของเรื่อง แก่นของเรื่อง และกลวิธีการดำเนินเรื่อง ในด้านการเปิดและปิดเรื่อง การเลือกรูปแบบ เอกภาพ และความสมจริง